Saturday, June 30, 2012

การซ่อมท่อประปาในอ่างผ้าใบ นวัตกรรมใหม่เพื่อคุณภาพน้ำที่ดี

 การตรวจวัดคุณภาพน้ำหลังซ่อมท่อประปา ก่อนส่งจ่ายถึงผู้ใช้น้ำ

 การซ่อมท่อประปาแบบเดิม 


 นวัตกรรมใหม่ ซ่อมท่อในอ่างผ้าใบ  ลดปัญหาเรื่องน้ำขุ่นหลังซ่อมท่อ

บทความเรื่อง การซ่อมท่อประปาในอ่างผ้าใบ นวัตกรรมใหม่เพื่อคุณภาพน้ำที่ดี

องค์กรที่ต้องการความก้าวหน้า และยั่งยืน จะต้องไม่หยุดนิ่งในการคิดค้น และพัฒนากระบวนงานใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการให้บริการ และความพึงพอใจสูงสุดแก่ประชาชน
การประปานครหลวง (กปน.) เป็นองค์กรที่ให้บริการน้ำประปาที่สะอาดแก่ประชาชนกว่า 10  ล้านคน ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล  โดยตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพน้ำประปาที่มีต่อสุขอนามัยของผู้ใช้บริการ จึงได้ทุ่มเทงบประมาณ   เพื่อควบคุมดูแล และตรวจสอบคุณภาพน้ำประปาให้มีคุณภาพดีทัดเทียมกับมาตรฐานน้ำดื่ม เริ่มตั้งแต่ระบบผลิตที่โรงงานผลิตน้ำประปา จนถึงระบบท่อจ่ายน้ำที่ส่งน้ำประปาไปถึงบ้านประชาชนทุกหลังคาเรือน  ถึงแม้กระนั้น ในระบบท่อจ่ายน้ำประปาก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาท่อแตกรั่ว ซึ่งจำเป็นต้องเร่งซ่อมแซมให้เสร็จโดยเร็ว มิฉะนั้นประชาชน  จะได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีน้ำประปาใช้ แต่บางครั้งการเร่งซ่อมท่อประปาแตกรั่วที่เรียกว่า ซ่อมเปียก กล่าวคือ การซ่อมท่อที่ไม่สามารถรอสูบน้ำให้แห้งก่อนดำเนินการ เนื่องจากสภาพหน้างานมีน้ำใต้ดิน และน้ำท่วมขัง จึงทำให้บางครั้งน้ำสกปรกจากภายนอกสามารถเข้าไปในเส้นท่อได้ และแม้ว่าภายหลังการซ่อมท่อประปา กปน.จะดำเนินการล้างเส้นท่อ เพื่อไล่น้ำสกปรกที่เล็ดลอดเข้าไป และใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค พร้อมทั้งตรวจสอบคุณภาพน้ำก่อนเปิดจ่ายน้ำก็ตาม ประชาชนก็ยังสังเกตเห็น และร้องเรียนเรื่องน้ำประปาขุ่น ซึ่งอาจเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ก็บั่นทอนภาพลักษณ์ในการให้บริการ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นว่าน้ำประปาดื่มได้ลดลงในทันที ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวหน่วยงานซ่อมท่อประปาของสำนักงานประปาสาขาบางบัวทอง (สสบท.) กปน. จึงได้คิดค้นวิธีการซ่อมท่อแบบใหม่ นั่นคือ การซ่อมท่อในอ่างผ้าใบ
การซ่อมท่อในอ่างผ้าใบ สามารถแก้ปัญหาการซ่อมท่อที่ไม่สามารถสูบน้ำให้แห้งจากหลุม ซึ่งส่งผลให้ต้อง    ซ่อมเปียกอันเป็นที่มาของการร้องเรียนน้ำประปาขุ่น  โดยปกติเมื่อเกิดเหตุท่อแตกรั่ว สิ่งแรกที่ต้องทำคือปิดการจ่ายน้ำ ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนไม่มีน้ำใช้ จากนั้นก็จะขุดหน้าดิน เปิดหลุมเพื่อหาจุดรั่ว และเร่งสูบน้ำออกจากหลุมให้ระดับน้ำลดลงจนสามารถมองเห็นจุดรั่ว ก่อนที่จะดำเนินการซ่อมท่อประปา ซึ่งกว่าจะสูบน้ำให้แห้ง ก็ต้องใช้เวลานาน หรือจนบางครั้งต้องซ่อมเปียก เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่นับจากนี้ไป การซ่อมท่อประปาในอ่างผ้าใบได้เกิดขึ้นแล้ว โดยการใช้ผ้าใบที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ สอดใต้ท้องท่อประปา ปิดหัว และท้ายท่อให้แน่น      จากนั้นใช้ซีลติดขอบผ้าใบ และขึงผ้าใบให้เป็นรูปอ่าง พร้อมสูบน้ำที่ยังค้างท่อออกจากอ่างผ้าใบซึ่งจะมีปริมาณน้ำที่ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับการสูบน้ำจากหลุมโดยตรง จึงสามารถสูบน้ำให้แห้งได้ในเวลาไม่นาน จากนั้นเลื่อยท่อส่วนที่แตกออก   นำท่อใหม่มาใส่ทดแทน นอกจากการทำงานที่ง่ายขึ้นแล้ว น้ำสกปรกจากภายนอกไม่สามารถเข้าไปในเส้นท่อได้อีกด้วย และข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ลดการร้องเรียนจากผู้ใช้น้ำ ถ้าเป็นการซ่อมท่อแบบเก่าต้องปล่อยน้ำล้างท่อเป็นเวลานาน แต่วิธีนี้สามารถลดเวลาที่ใช้ในการล้างท่อได้เป็นอย่างดี เนื่องจากไม่มีน้ำสกปรกไหลเข้าไปในเส้นท่อ จึงสามารถเปิดจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนได้เร็วขึ้น  และจะตรวจสอบคุณภาพน้ำในด้านปริมาณคลอรีน และความขุ่นให้ได้มาตรฐานอีกครั้งก่อนส่งจ่ายถึงบ้านผู้ใช้น้ำ
สสบท. ได้ทดลองซ่อมท่อในอ่างผ้าใบมาระยะหนึ่งแล้ว พบว่าช่วยลดเวลาในการซ่อมท่อประปา ค่าใช้จ่ายก็
ไม่เพิ่ม เนื่องจากผ้าใบราคาผืนละ 1
,500 บาท สามารถนำกลับไปใช้ได้อีกหลายครั้ง และที่สำคัญไม่มีการร้องเรียน     เรื่องน้ำประปาขุ่นเลย
          นี่คือความตั้งใจจริงในการพัฒนาการทำงานของ กปน. เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และคุณภาพ อันก่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดแก่ผู้ใช้บริการ ส่งผลโดยตรงต่อความมั่นใจของประชาชนว่า น้ำประปานั้นสะอาดมีคุณภาพดีในขั้นดื่มได้ และเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะนำไปขยายผลใช้ในงานซ่อมท่อประปาของ กปน. ต่อไป


------------------------------------

0 comments: