Tuesday, November 2, 2010

ประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2553


ประกาศผลรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2553 แก่ 10 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน
โครงการทำดีทุกวันจากดีแทคร่วมกับมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด DFM ร่วมด้วยช่วยกัน พร้อมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนางาน CSR สู่ภูมิภาคอาเซียน เปิดเวทีมอบรางวัลเกษตรอินทรีย์ดีเด่นแก่เกษตรกรภูมิปัญญาแห่งภูมิภาค เตรียมเชื่อมโยงโครงข่ายด้านเกษตรผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมยุคใหม่ ทั้งเกษตรกรไทยและอาเซียนสู่ตลาดโลก
“รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ประจำปี 2553 นั้น ครั้งนี้นับเป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด รวมรวมภูมิปัญญาและความรู้ด้านการเกษตรตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเผยแพร่ให้เกษตรกรอื่นๆ ต่อไป ปีนี้เป็นปีแรก ที่ กระทรวงเกษตร ของประเทศสมาชิกอาเซียน เข้าร่วมประกวดด้วย พิธีมอบรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด จะจัดขึ้นในวันพุธที่ 3 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10.00-12.00 น. ณ โรงมหรสพศาลาเฉลิมกรุง
ประเทศที่ เกษตรกรอาเซียนได้รับรางวัลในปีนี้ มีทั้งสิ้น 9 ประเทศ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม บรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ลาว พม่าและจากประเทศไทย อีก 9 คน“รางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” เป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตรที่เป็นนวัตกรรมด้าน CSR โดยโครงการทำดีทุกวันจากดีแทค ในการนำเทคโนโลยีการสื่อสารมาประยุกต์ใช้เพื่อกระจายความรู้ไปยังเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบัน มีเกษตรกรเจ้าของรางวัลอยู่ในเครือข่ายแล้ว 123 คน และมีเกษตรกรผู้ใช้บริการ *1677 ทางด่วนข้อมูลการเกษตรอยู่กว่าสองแสนรายทั่วประเทศ.
ข้อมูลเพิ่มเติม
โดยรับทราบผลการคัดเลือกแล้ว 6 ท่าน ดังรายละเอียดผลงานดังนี้
1) นาย Mohd Shahrul Bin Daud เกษตรกรหนุ่ม จากประเทศมาเลเซีย อายุ 27 ปี เขาเริ่มต้นทำฟาร์มปศุสัตว์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการเลี้ยงวัวเนื้อเพียง 2 ตัวและได้ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันมีทั้งโคเนื้อและโคนมทั้งสิ้นกว่า 160 ตัว ทั้งยังได้ขยายกิจการไปเพาะปลูกพืชไร่และทำเกษตรผสมผสาน อย่างได้ผล ภายในพื้นที่เกือบ 10 เฮคเตอร์ เขาปลูกต้นสัปปะรด 250,000 ต้น พริกแดง 5,000 ต้น เลี้ยงโคเนื้อ 160 ตัว โคนม 20 ตัว บ่อเพาะปลาดุก บ่อดิน 4 บ่อ และบ่อปูน 2 บ่อ รวมทั้งผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตและจัดจำหน่ายโยเกิร์ต ซึ่งล้วนเป็นเกษตรอินทรีย์ปลอดสารเคมี ต้นทุนต่ำแต่ได้ผลผลิตสูง คุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันเขาเป็นเจ้าของบริษัท MND Agroternak Farmซึ่งนอกจากดำเนินการในฟาร์มแล้ว เขายังได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่นการทำถนนและสร้างฝายชุมชนอีกด้วย
2) นาย Bonifacio M.Corpuz ชาวนาผู้ปลูกข้าวจากประเทศฟิลิปปินส์ เกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มีความขยันขันแข็งในการพัฒนาอาชีพด้านการเกษตรมาตลอดชีวิต มีผลงานโดดเด่นในการทำนาข้าวแบบครบวงจรบนหลักการเกษตรอินทรีย์ มีการประยุกต์ใช้ผลผลิตที่ได้จากการทำนา มาทำปุ๋ยเพื่อลดต้นทุน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ป้องกันดินเสื่อมสภาพ แต่ยังคงให้ผลผลิตสูง คุณภาพดี นอกจากนี้เขายังได้คิดค้นระบบ “PalayCheck System” เพื่อบริหารจัดการนาข้าวให้ได้ประสิทธิผล สามารถปลูกข้าวได้ตลอดทั้งปี เขายังได้เข้าร่วมกลุ่มฝึกอบรมพัฒนาของทางราชการอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้การทำเกษตรของเขาก้าวหน้ามากขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันนอกจากการทำนาข้าว เขาได้ขยายไปสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งพืชสวนครัวและไม้ตัดดอก ตลอดจนจัดสรรพื้นที่บางส่วนในการทำปศุสัตว์ เลี้ยงโค เป็ด ไก่ และได้นำเอาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ในการช่วยเพิ่มผลผลิต ทำให้เมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา เขาได้รับอัตราผลตอบแทนจากการทำนาข้าวสูงถึง 307% และจากการปลูกพืชไร่สูงถึง 204%
3) นาย NGUYEN VAN PHUC จากเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม เป็นเกษตรกรเจ้าของฟาร์มสุกรบนพื้นที่ 1650 ตารางเมตร โดยได้เลี้ยงสุกรเพื่อขยายพันธุ์ไว้ 120 ตัว สามารถให้ผลผลิตเป็นลูกสุกรได้มากถึง 1500 ตัวต่อปี นอกจากนี้ยังเลี้ยงสุกรเพื่อผลิตเป็นเนื้อสุกรอีก 600 ตัว ในแต่ละปีสามารถผลิตเนื้อสุกรป้อนตลาดกลางในฮานอยได้มากถึง 150 ตันต่อปี โดยเขานำหลักการทำเกษตรอินทรีย์พึ่งพาตนเองแบบครบวงจรมาประยุกต์ใช้ในการทำฟาร์ม อาทิ นำผลผลิตจากสุกรมาทำเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการดำเนินงานภายในฟาร์ม ซึ่งสามารถลดต้นทุนการดำเนินงาน สุกรเติบโตดีให้ผลผลิตสูง ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
และสำหรับเกษตรกรไทย ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมรับรางวัลประจำปี 2553 นี้ได้แก่
1. คุณพนม พึ่งสุขแดง : เกษตรกรหนุ่มไฟแรงจากจังหวัดนนทบุรี เป็นเกษตรกรผู้มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการปลูกกล้วยไม้ตัดดอกส่งออก และเป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยไม้สกุลหวาย โดยคุณพนมเป็นประธานกลุ่มส่งเสริมการปลูกกล้วยไม้เพื่อการส่งออก และ สามารถรวบรวมเกษตรกรเพื่อจัดตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อจัดส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ทำให้กล้วยไม้ไทยเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
คุณพนม ได้เปิดสวนกล้วยไม้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกกล้วยไม้สกลุหวายให้กับผู้ที่สนใจในการปลูกกล้วยไม้สกุลหวายอีกด้วย ที่สำคัญกล้วยไม้จากสวนเกษตรกรท่านนี้ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และนี่คือหนึ่งความภาคภูมิใจสำหรับเกษตรกรไทยที่มีความสามารถ เป็นเกษตรกรที่มีจิตอาสาเพื่อสังคม และ พร้อมที่จะเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เยาวชนและผู้ที่สนใจนำความรู้ไปสร้างรายได้ให้กับชุมชนของตนเองต่อไป
2. ผู้ใหญ่เอนก ขุนสูงเนิน: ผู้ใหญ่เอนกมีความโดดเด่นในด้านการปลูกมะขามหวาน โดยปลูกมะขามหวานจำนวน 300 ไร่ และมีสมาชิก กว่า 700 ราย ซึ่งสามารถส่งผลผลิตจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปยังอีกหลายประเทศ เช่น เวียดนาม กัมพูชา จีน ลาว ซึ่งจะมีตัวแทนมารับซื้อ ส่วนประเทศเวียดนามจะมารับซื้อเอง ส่วนประเทศจีนจะเริ่มมารับซื้อในปีนี้ โดยจะสั่งจองข้ามปี และปัจจุบันผู้ใหญ่เอนกยังคงต้องการเกษตรกรเครือข่ายเพิ่มเติมเพื่อขยายผลผลิตในการส่งออกมายิ่งขึ้น
ผู้ใหญ่เอนกยังได้ริเริ่มโครงการต่างๆ ให้กับเกษตรกรภายในชุมชนหลากหลายโครงการได้แก่ เป็นผู้ริเริ่มให้เกษตรกรบ้านซับประสิทธิ์ปลูกมะขามหวาน และเป็นผู้ริเริ่มพัฒนาพันธุ์มะขามหวาน คือ มะขามหวานพันธุ์ “ศรีภักดี”, ประสานและริเริ่มการจัดตั้งกลุ่มอาชีพศูนย์รวมจำหน่ายมะขามหวานบ้านซับประสิทธิ์(ตลาดกลาง) ของหมู่บ้านซับประสิทธิ์, จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปมะขามหวาน ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวาน เพื่อเพิ่มราคาผลผลิตและความสะดวกในการจำหน่าย, รวบรวมปัญหา ข้อเสนอแนะและการแก้ไขปัญหาราคามะขามหวานตกต่ำ,แนะนำส่งเสริมการจัดทำและใช้ปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น
3. คุณวีรยุทธ ศรีเลอจันทร์ (อาจารย์ทอง ธรรมดา)
อาจารย์ทอง ทำการเกษตรบนพื้นที่ประมาณ 14 ไร่ โดยแบ่งเป็นการปลูกมะนาวไร้เมล็ด จำนวน 10 ไร่ มะละกอ 5 ไร่ มันสำปะหลัง 6 ไร่ และ กล้วยหอม 3 ไร่ และมีโรงปุ๋ยอินทรีย์ของศูนย์เรียนรู้อยู่ในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกับแปลงปลูกมะนาวและมะละกอ และยังแบ่งพื้นที่ ที่เหลือจากการตั้งโรงปุ๋ยไม่ถึงไร่ เพื่อปลูกแก้วมังกร มะม่วง ขนุน ชะอม น้อยหน่า มะพร้าวน้ำหอม และส้มสายน้ำผึ้ง ที่สามารถเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ผลงานด้านสังคมอาจารย์ทองเป็นประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงวิสาหกิจชุมชนเพชรพิมาย ผู้จัดตั้งกลุ่มเรียนรู้เกษตรยั่งยืนบ้านกระเบื้องน้อย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา และกลุ่มเกษตรธรรมชาติ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ อาจารย์ทองเป็นเกษตรกรที่มีความคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการเกษตรของตนด้วยเทคนิคต่างๆ ที่คิดค้นขึ้น จนเป็นที่รู้จักของปราชญ์และเกษตรกรจากหลายที่หลายถิ่นจนทุกวันนี้ และมีสมาชิกในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ มากกว่า 700 ราย นอกจากนั้น อาจารย์ทองยังสามารถสร้างผลผลิตรวบรวมสมาชิกส่งมะนาวออกไปยังประเทศไต้หวันด้วย
-------------------------

0 comments: