Friday, March 7, 2014

“น้ำประปา” กับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป




น้ำประปา กับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไป

 การประปานครหลวง หรือ กปน. ถือเป็นเพียงหน่วยงานเล็ก ๆ หน่วยหนึ่งที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำในชาติ  เพื่อผลิตเป็นน้ำประปา อันเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ หล่อเลี้ยงประชาชน และภาคธุรกิจในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ กว่า 10 ล้านคน ตลอดทุกวัน ทุกเวลา  โดยมีการรักษาและยกระดับมาตรฐานการผลิตและการให้บริการเรื่อยมา
เมื่อจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของทุกคน และทุกภาคส่วน จึงต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่ทรัพยากรน้ำไม่ได้เพิ่มขึ้น แหล่งน้ำก็มีเท่าเดิม ซ้ำร้ายทรัพยากรป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำกลับถูกรุกราน มีการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ขาดพื้นที่ชุ่มน้ำไว้กักเก็บน้ำ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง  ความสมดุลในธรรมชาติเริ่มลดลง แต่ถึงกระนั้น มนุษย์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลง เพราะยังไม่ได้กระทบต่อชีวิตประจำวัน  แม้บางครั้งอาจรับรู้ได้ว่าอากาศร้อนขึ้น แต่ก็มีสิ่งอำนวยความสะดวก อย่างเช่นเครื่องปรับอากาศ มามีส่วนช่วยในการบรรเทาความร้อน หรือบางครั้งหนาว ก็มีการสวมใส่เสื้อผ้าให้อุ่นขึ้น 

จนกระทั่งเมื่อปี 2554 ครั้งที่เกิดมหาอุทกภัย คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นกังวล เพราะได้รับผลกระทบโดยตรง และในปีนี้  ปี 2557  ก็ถือเป็นอีกครั้งที่ชาวกรุงต้องเผชิญปัญหา น้ำ ที่ไม่มีใครคาดคิดว่า จากปากแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นมาถึงจุดรับน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นจุดรับน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของ กปน. ที่ตั้งอยู่ไกลปากอ่าวไทยกว่า 96 กิโลเมตร จะต้องเผชิญปัญหาน้ำเค็มจากทะเลขึ้นถึง ซึ่งถือเป็นเหตุการณ์ในรอบ 100 ปี ก็ว่าได้ ส่งผลให้น้ำประปาที่เปิดจากก๊อกมีรสชาติกร่อย แม้จะเกิดขึ้นเพียงแค่บางวัน และบางเวลาก็ตาม  แต่นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงความไม่แน่นอนของธรรมชาติที่เริ่มมีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
ไม่เพียงแค่ประเทศไทยเท่านั้น ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ นครเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน ก็เผชิญปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงเช่นกัน โดยในเซี่ยงไฮ้พบว่าน้ำประปามีค่าคลอไรด์สูงถึง 4,500-5,000 มิลลิกรัมต่อลิตร ส่งผลให้ประชากรในเซี่ยงไฮ้กว่า 2 ล้านคน ขาดแคลนน้ำ ในขณะที่ช่วงน้ำทะเลหนุนสูงสุดที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2557 น้ำประปาของ กปน. มีค่าคลอไรด์สูงถึง 800 มิลลิกรัมต่อลิตร  ซึ่งระบบประปาทั่วโลกจะยึดตามเกณฑ์แนะนำมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ที่ 250-500 มิลลิกรัมต่อลิตร แต่ค่าคลอไรด์ที่สูงกว่าเกณฑ์นี้จะเกิดขึ้นเพียงบางวันและบางช่วงเวลาเท่านั้น โดยจะเฝ้าระวังในช่วงที่น้ำทะเลหนุน ซึ่งยึดถือจากแผนที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ที่ปรากฏการณ์น้ำขึ้น-น้ำลง จะเกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงของดวงจันทร์ จึงทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นในช่วงวันพระ
สำหรับการแก้ไขปัญหาน้ำทะเลหนุนทั้งของไทยและเซี่ยงไฮ้ ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เพราะระบบการผลิตน้ำประปาทั่วโลกที่ใช้น้ำจืดมาผลิตจะมีกระบวนการผลิตที่ใกล้เคียงกัน และไม่สามารถกำจัดความเค็มได้ จึงเลือกจุดรับน้ำดิบเพื่อผลิตน้ำประปาที่ค่อนข้างไกลจากน้ำทะเล   โดยสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศทำคือการเพิ่มปริมาณน้ำดีมาเติมในลำน้ำ เพื่อไล่ความเค็มให้ลดลงจากจุดรับน้ำ และเพิ่มระดับน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ รวมถึงการนำน้ำจากแหล่งน้ำอื่นๆ ที่มีมากพอมาช่วยเจือจางความเค็ม ซึ่งช่วยลดปัญหาได้ระดับหนึ่ง
อีกประการหนึ่ง คือการบริหารจัดการระบบประปา ซึ่ง กปน. มีการปรับวิธีการรับน้ำใหม่ โดยหยุดสูบน้ำดิบเข้าคลองประปาในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน รอจนกระทั่งระดับความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาลดลงจึงทำการสูบน้ำดิบเข้ามาเก็บไว้ในคลองประปา ก่อนจะสูบส่งไปยังโรงงานผลิตน้ำ 3 แห่ง คือ บางเขน สามเสน และธนบุรี เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำประปา แล้วจึงสูบจ่ายไปให้ประชาชนไว้ใช้อุปโภคบริโภค ผ่านโครงข่ายท่อประปาใต้ดิน ระยะทางกว่า 30,000 กิโลเมตร ดังนั้น  กว่าน้ำประปาจะเดินทางไปถึงบ้านทุกคน ต้องใช้เวลาเฉลี่ยเกือบ 1 วันทีเดียว  ซึ่งน้ำประปายังมีการผสมผสานกันภายในท่อ จึงช่วยลดความเจือจางของค่าคลอไรด์ลงได้ นอกจากนี้ กปน. ยังได้บริหารความเสี่ยงจากปัญหาดังกล่าว มากว่า 18 ปี ด้วยการจัดเตรียมแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาอีก 1 แห่ง คือ จากเขื่อนแม่กลอง ส่งผ่านคลองประปาระยะทาง 106 กิโลเมตร มาถึงโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดใช้งานมาตั้งแต่ปี 2539 แล้วจึงสูบจ่ายน้ำประปาบริการประชาชนในพื้นที่บางบัวทอง พระประแดง และฝั่งธนบุรีทั้งหมด (ยกเว้นในพื้นที่สำนักงานประปาสาขาบางกอกน้อย) จึงทำให้ประชาชนที่ใช้น้ำจากแหล่งนี้รอดพ้นจากปัญหาน้ำประปากร่อย รวมทั้ง กปน. ยังได้ผันน้ำประปาจากแหล่งนี้มาเจือจางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาด้วย ซึ่งทุกหน่วยงาน รวมทั้งภาคเกษตรกรรมยังคงต้องฝ่าฟันวิกฤตน้ำทะเลหนุนกันต่อไปจนถึงเดือนพฤษภาคม  ภาครัฐก็ต้องดูแลจัดสรรการใช้น้ำให้เหมาะสมสำหรับการใช้งาน พร้อมกับการรักษาสมดุลให้แก่ระบบนิเวศ  กปน. เองก็ต้องผลิตน้ำประปาเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบได้ใช้น้ำประปาที่มีคุณภาพดี มีรสชาติปกติเหมือนเช่นเคย
 
และนี่ คือความตั้งใจของคนผลิตน้ำประปาที่ต้องการจัดหาสิ่งที่ดีที่สุดให้ทุกคนในสังคม แม้จะต้องเผชิญกับวิกฤตความแปรปรวนของทรัพยากรธรรมชาติก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน นั่นคือ คนต้นน้ำ ควรช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากร ธรรมชาติทุกประเภท ทั้งดิน น้ำ ป่าไม้ เพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้ธรรมชาติ ส่วนคนปลายน้ำ ก็ช่วยกันใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า  ซึ่งถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันใช้น้ำอย่างสมดุล ตามปริมาณน้ำที่มีในแต่ละปี ปัญหาด้านน้ำ ไม่ว่าจะน้ำแล้ง หรือ น้ำท่วม ก็จะหมดไป
*********************************
กองเผยแพร่ข่าว  ฝ่ายสื่อสารองค์กร


0 comments: