Thursday, September 26, 2013

กปน. MOU สกว. วิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำ




กปน. MOU สกว. วิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำ
นายวิสุทธิ์ นพคุณทอง ผู้ช่วยผู้ว่าการ (ระบบผลิตน้ำ) รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) และ ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “การวิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำ” เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้ เทคนิคในการประเมินความเสี่ยง และการจัดการความเสี่ยง ตลอดจนเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงคุณภาพน้ำประปาทางจุลชีววิทยา เพื่อพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยน้ำประปาของ กปน.  
******************************


กปน. จับมือ สกว. วิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำ

กปน. และ สกว. ลงนามสนับสนุนงานวิจัยโครงการ “การวิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำ” เพื่อพัฒนาการประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง อันจะนำไปสู่คุณภาพความปลอดภัยของน้ำประปา และสร้างความเชื่อมั่นแก่คนไทย
            ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และ นางสุนันทา นิงสานนท์ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการประปานครหลวง (กปน.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการ “การวิเคราะห์ความเสี่ยงคุณภาพน้ำ” เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการสร้างองค์ความรู้และเทคนิคในการประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง ตลอดจนการเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงคุณภาพน้ำประปาทางจุลชีววิทยา เพื่อพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยของน้ำประปาแก่ กปน.
            ผู้อำนวยการ สกว. เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในปี 2554 ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านสาธารณสุขอันเกิดจากภาวะบกพร่องของสุขอนามัยเชิงประชากร และอาจส่งผลกระทบต่อการระบาดของโรค
ที่เกิดจากการบริโภคอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรค สกว. จึงสนับสนุนโครงการวิจัย “การประเมินความเสี่ยงทางจุลินทรีย์ของน้ำในพื้นที่ประสบอุทกภัยในเขตภาคกลางของประเทศไทย” โดยมี รศ. น.สพ. ดร.ศุภชัย
เนื้อนวลสุวรรณ อาจารย์ประจำคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อประเมินความเสี่ยงของน้ำในการอุปโภคบริโภคในเขตพื้นที่เสี่ยง และการเฝ้าระวังระดับการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ก่อโรคในน้ำ ซึ่งนักวิจัยได้นำเสนอผลการดำเนินงานและข้อเสนอแนะต่อฝ่ายคุณภาพน้ำ กปน. ประกอบด้วย การบริหารจัดการในการเฝ้าระวังโรค การประเมินความเสี่ยงของน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค การจัดการโรงกรองน้ำ และข้อมูลในการเตรียมการตั้งรับกับเหตุการณ์อุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
            การวิเคราะห์ความเสี่ยงเป็นแนวทางมาตรฐานระหว่างประเทศในการพัฒนาระบบความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค ซึ่งมี 3 กระบวนการ คือ การจัดการความเสี่ยง การประเมินความเสี่ยง และการสื่อสารความเสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการทำงานด้านการพัฒนาและควบคุมคุณภาพน้ำของ กปน. สำหรับความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และเทคนิคในการประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงเพื่อพัฒนาคุณภาพความปลอดภัยของน้ำประปาทางจุลชีววิทยาแก่ กปน. รวมถึงสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพบุคลากรให้มีความสามารถในการประเมินความเสี่ยงคุณภาพน้ำประปาทางจุลชีววิทยา เพื่อยกระดับความปลอดภัยน้ำประปาให้สอดคล้องกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในเรื่อง “Water safety plans: Managing drinking-water quality from catchment to consumer” รวมทั้งเป็นข้อมูลสำหรับกระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการความเสี่ยงหรือเฝ้าระวังการเจ็บป่วยของผู้บริโภค โดย สกว. จะให้การสนับสนุนงบประมาณแก่โครงการ รวมตลอดระยะเวลาไม่เกิน 2 ล้านบาท
            นางสุนันทา นิงสานนท์ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการประปานครหลวง กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการอุปโภคบริโภคน้ำประปา สนับสนุนโครงการน้ำประปาดื่มได้ ซึ่งการประปานครหลวงรณรงค์มาตั้งแต่ปี 2542 และมีการยกระดับคุณภาพน้ำประปามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างเพียงพอและทั่วถึง นอกจากนี้ ยังสอดรับกับแนวทางการจัดทำแผนจัดการน้ำประปาปลอดภัย หรือ Water Safety Plan เพื่อปิดกั้นความเสี่ยงในทุกขั้นตอนการผลิตน้ำประปา ตั้งแต่แหล่งน้ำดิบ กระบวนการผลิตน้ำ จนกระทั่งการคงคุณภาพน้ำประปาในระบบส่งน้ำจนถึงบ้านเรือนประชาชนทุกหลังคาเรือน และล่าสุดเตรียมนำระบบโอโซนมานำร่องใช้ที่โรงงานผลิตน้ำสามเสน และจะเพิ่มไปยังกำลังการผลิตน้ำส่วนต่อขยายของโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ในอนาคต เพื่อลดการใช้คลอรีน และปรับทัศนคติ
ในการบริโภคน้ำประปาให้มีรสชาติดีน่าดื่มยิ่งขึ้น อันจะช่วยลดภาระค่าครองชีพในการจัดหาน้ำดื่มบรรจุขวดมาบริโภค และลดปริมาณขยะพลาสติกที่ก่อให้เกิดมลภาวะในปัจจุบัน
.............................................
 

0 comments: