Tuesday, April 8, 2014

กปน. เตรียมทุ่มเงินกว่า 35,000 ล้าน



ต่อยอดศตวรรษใหม่ 
 กปน. เตรียมทุ่มเงินกว่า 35,000 ล้าน
พัฒนาเสถียรภาพระบบประปา
อย่างเพียงพอ มั่นคง และยั่งยืน

          14 พฤศจิกายน 2557 ที่จะถึงนี้ ก็จะครบรอบ
100 ปี ที่ “กิจการประปาไทย” ได้ถือกำเนิดขึ้นตาม
พระราชประสงค์ และพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทำให้ประชาชนชาวไทยได้เข้าถึงบริการน้ำประปา
ที่สะอาด และมีคุณภาพมาจวบจนวันนี้เป็นเวลานานนับศตวรรษ จึงเป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งของ
การประปานครหลวง หรือ กปน. ที่ต้องต่อยอดและพัฒนากิจการอย่างต่อเนื่อง
ให้สอดรับกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้มีน้ำประปาคุณภาพมาตรฐานสากล ให้บริการประชาชนครอบคลุมทุกเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งระบบประปามีเสถียรภาพมั่นคงยั่งยืนต่อไปในอนาคต
          นายยงยุทธ์ อภัยจิรรัตน์ รองผู้ว่าการ กปน. (แผนและพัฒนา) กล่าวว่า
ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน ประกอบกับการที่สมดุลธรรมชาติถูกทำลาย ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลกเป็นอย่างมาก ทั้งอากาศ น้ำ ป่าไม้ ล้วนเสื่อมโทรมลง  ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม
และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของชุมชนเมือง กลับสวนทางกับทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ด้อยคุณภาพลง หรือแม้แต่ใกล้จะหมดลงทุกวัน
...ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ กปน. นำน้ำดิบมาผลิตเป็นน้ำประปา เคยมีคุณภาพดีกว่านี้มาก แต่ต้องผ่านทั้งพื้นที่ภาคเกษตรกรรม และการใช้ภาคครัวเรือนมาตลอดเส้นทางถึง 22 จังหวัดกว่าจะมาถึงจุดที่ กปน. สูบน้ำดิบขึ้นมาเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต ซึ่งหลายครั้งที่มีปริมาณคงเหลือน้อยมาก
แม้กรมชลประทานจะพยายามจัดสรรน้ำแก่ทุกภาคส่วนให้เหมาะสมด้วยความยากลำบากแล้วก็ตาม อีกทั้งประเทศไทยไม่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่สำหรับการผลิตน้ำประปาโดยเฉพาะเหมือนเช่นในต่างประเทศ เมื่อเทียบกับสภาพแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน กปน. จึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มการลงทุน
ทั้งระบบการผลิต ระบบการใช้สารเคมีเพื่อบำบัด และระบบสูบส่ง-สูบจ่ายน้ำ
ให้ได้น้ำประปาคุณภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก บริการแก่ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบกว่า 10 ล้านชีวิตอย่างต่อเนื่อง
          จากปัญหาดังกล่าว กปน. มิได้นิ่งนอนใจ จึงได้เร่งดำเนินงานตามโครงการปรับปรุงกิจการประปา
แผนหลัก ครั้งที่ 9 ภายใต้กรอบความคิดในการสร้างความเพียงพอ ความมั่นคง ความยั่งยืน และเพิ่มเสถียรภาพให้แก่ระบบประปา เพื่อที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ปริมาณความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทุกปี อันเนื่องมาจากอัตราการเจริญเติบโตของชุมชนเมือง การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชน อาทิ รถไฟฟ้าสายสีต่างๆ กระจายตัวครอบคลุมในหลายพื้นที่มากขึ้น พร้อมๆ กับโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ทั้งหมู่บ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม เกิดขึ้นมากมาย ดังนั้น เพื่อรองรับการให้บริการที่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว กปน.

จึงตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 35,000 ล้านบาท ในการลงทุนประกอบด้วย Sการปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ เพื่อสร้างเสถียรภาพในการให้บริการน้ำประปารองรับอัตราการเจริญเติบโตของชุมชนเมือง
ฝั่งตะวันตกตอนบน อาทิ ย่านบางบัวทอง นนทบุรี มหาสวัสดิ์ และไทรน้อย ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้งบประมาณ 7,459 ล้านบาท
Sการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำแห่งใหม่ (ไทรน้อย) ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในการนำโอโซนมาใช้ในกระบวนการผลิตน้ำประปา ด้วยกำลังการผลิตน้ำเต็มที่ 800,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน อันจะเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาให้สูงยิ่งขึ้น สร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้น้ำ
ใช้งบประมาณ 6,187
ล้านบาท Sการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำเพิ่มอีก 3 เส้นทาง รองรับปริมาณน้ำประปาที่เพิ่มขึ้นจากการขยายกำลังการผลิต และเสริมเสถียรภาพทั้งด้านปริมาณ และแรงดันในการสูบจ่ายน้ำให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ของโครงข่ายระบบท่อประปาทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ด้วยงบประมาณ 12,202 ล้านบาท Sการก่อสร้างสถานีสูบจ่ายน้ำและถังเก็บน้ำใสพร้อมงานที่เกี่ยวข้อง งบประมาณ 10,689 ล้านบาท Sระบบอื่น ๆ
(งานสนับสนุน) 4
,477 ล้านบาท โดยทั้งหมดนี้ มีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 7 ปี (2558-2564) รวมงบประมาณกว่า 35,312 ล้านบาท

          นายยงยุทธ์ กล่าวต่อไปอีกว่า โครงสร้างพื้นฐานของ กปน. มีอายุการใช้งานมาเป็นเวลานานมากกว่า 30 ปี
ด้วยลักษณะการใช้งานเต็มพิกัดความสามารถอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังไม่สามารถหยุดโรงงานผลิตน้ำเพื่อปิดซ่อมดูแลรักษาให้มีการใช้งานที่มีอายุยาวนานขึ้นได้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดกรณีวิกฤติฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็นต่างๆ
ประกอบกับในอดีตที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น ทั้งภาวะโลกร้อน ปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ลานินญา วิกฤติอุทกภัย ตลอดจนเหตุการณ์ล่าสุด คือ การรุกล้ำของปริมาณน้ำเค็มจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงหน้าแล้งที่มาเร็วกว่าปกติ
ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตน้ำประปาของโรงงานผลิตน้ำทั้งสิ้น
  และเป็นที่ทราบกันดีว่าไม่มีสิ่งใดที่จะฝืนหรือคาดการณ์ธรรมชาติได้เสมอไป เช่นเดียวกับการที่ไม่สามารถแก้ไขสมดุลธรรมชาติที่ถูกทำลายไปแล้วได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังจากที่ กปน. ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนมาเป็นเวลาหลายปี โครงการฯ ดังกล่าว จึงถือว่า

มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อที่จะเร่งดำเนินการป้องกันปัญหาต่อคุณภาพน้ำประปาที่อาจเกิดขึ้น
          ด้านแหล่งเงินทุนโครงการ กปน. กำลังวิเคราะห์ทางเลือกระหว่างใช้เงินรายได้องค์กรรวมกับเงินกู้

ในประเทศ หรือจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เนื่องจาก กปน. เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ จำเป็นต้องรับผิดชอบเงินลงทุนขององค์กรเองทั้งหมด แม้จะมีข้อจำกัดของศักยภาพทางการเงินสำหรับ
การลงทุนขนาดใหญ่ คือ หากตัดสินใจลงทุนไปแล้ว ทำให้ต้นทุนการผลิตของ กปน. ต้องเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว รวมทั้ง ค่า
EP หรือกำไรเชิงเศรษฐศาสตร์ก็จะติดลบหลายปีตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ


 ดังนั้น ด้วยพันธกิจของ กปน. ในการ “ให้บริการงานประปาที่มีมาตรฐานคุณภาพ อย่างมั่นคง ทั่วถึง เพียงพอ ด้วยเทคโนโลยีทันสมัย และบุคลากรมืออาชีพ เพื่อสร้างความพึงพอใจ และความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ” จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร พนักงาน และผู้ปฏิบัติงาน กปน. ทุกคนยึดมั่น
และพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ มาโดยตลอด การลงทุนในโครงการฯ นี้

เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการยักษ์ใหญ่ทั้งหมดของ กปน. ที่มุ่งเน้นผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติมากกว่าผลกำไร เพื่อยกระดับการบริการน้ำประปาแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น สร้างความพึงพอใจ เติมเต็มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน และก้าวสู่การเป็นองค์กรด้านสาธารณูปโภคระดับแนวหน้า มีความพร้อมรองรับในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ AEC ในอนาคตอันใกล้นี้ต่อไป และเป็น “ประปาเพื่อประชาชน” ที่น้ำประปา

ทุกหยดคุณภาพหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด สมดังพระราชปณิธานของรัชกาลที่ 5

******************************

กองเผยแพร่ข่าว  ฝ่ายสื่อสารองค์กร
โทร. 0 2504 0123 ต่อ 1110 , 1111
โทรสาร. 0 2503 9563

0 comments: